ฟาอิก เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรรัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา เขาเริ่มต้นจากการเป็นเยาวชนที่สนใจงานด้านสันติภาพและการมีส่วนร่วมของเยาวชน ผ่านการทำงานกับสมาคมฟ้าใสที่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะของเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ ฟาอิกได้เข้าร่วมโครงการ Insider Peacebuilders Platform Youth (IPP Youth) ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างบทบาทของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมกระบวนการสันติภาพ โดยโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ SENANG ของเซฟ เดอะ ชิลเดรน และได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นโครงการที่สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพผ่านสื่อศิลปะและวัฒนธรรม และส่งเสริมความเข้าใจของเด็ก ๆ ในด้านความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปะ
การเข้าร่วมโครงการนี้ช่วยให้ฟาอิกได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้ เมื่อได้รับโอกาสไปร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ฟาอิกได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการในฐานะตัวแทนเยาวชน ท่ามกลางความท้าทายในการทำให้เสียงของเยาวชนมีน้ำหนักท่ามกลางกรรมาธิการที่เป็นผู้ใหญ่ โครงการ SENANG มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้เขาสามารถเข้าร่วมประชุมและพัฒนาแนวคิดด้านสันติภาพได้อย่างต่อเนื่อง
ฟาอิกรู้จัก IPP Youth ได้อย่างไร และทำไมถึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้?
“จริง ๆ รู้จัก IPP Youth มานานแล้ว เพราะว่าเขามี IPP ผู้ใหญ่ครับ ก็รู้ว่า โอเค มันเป็นวงลับอะไรสักอย่างนึง เพราะว่าเราอยู่สมาคมฟ้าใสที่ส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ และก็นายกสมาคม พี่มาเรียม ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของ IPP ผู้ใหญ่ เราก็เห็นว่าเค้าไปประชุมมา แล้วก็บวกกับพี่ที่รู้จักกันก็เป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในมูลนิธิความร่วมมือสันติภาพ (PRC) ที่ดูแลวง IPP อยู่ แล้วก็พอเขาเปิดรับสมัคร IPP Youth เขาก็เชิญชวนผมให้สมัคร แล้วก็ได้ไปร่วมอบรมกับเขาครับ”
‘’จริง ๆ ก็แอบตื่นเต้นในตอนแรกนะ เพราะว่าทีแรกเราก็เข้า IPP Youth ก่อน ไปอบรมเรื่องกระบวนการสันติภาพ เรื่องประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ที่มาที่ไปเรื่องของบ้านเราทั้งหมด ก่อนหน้านี้ก็คือทํางานด้านนี้อยู่แล้ว ทํางานกับสมาคมฟ้าใส แต่ว่ามันไม่ได้มีความรู้ลึกมากเท่าที่ควรเกี่ยวกับพื้นที่บ้านเรา พอไปเข้าร่วมกับ IPP Youth เนี่ยก็มีอาจารย์ย่อง (ชุมศั กดิ์ นรารัตน์วงศ์) มาให้ความรู้ มีอุสตะ (อาจารย์) ฮาซัน เรื่องประวัติศาสตร์ ในนั้นมันก็มีเครื่องมือการจัดการความขัดแย้ง ตัวอย่างความขัดแย้งในต่างประเทศ มันก็หล่อหลอมมาเรื่อย ๆ แล้วก็บวกกับช่วงนั้นกระแสเยาวชนกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพมันเพิ่มมากขึ้น พอมีวง IPP ผู้ใหญ่ก็จะส่งตัวแทนเยาวชนเข้าไปร่วมด้วย”
ช่วยเล่าถึงความเป็นมาของการเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการฯ ในฐานะเยาวชน
“จุดเริ่มต้นก็คือว่า เราผ่านการอบรมจาก IPP Youth มาสักพักนึงแล้ว กรรมาธิการเขาลงมารับฟังความคิดเห็นที่ปัตตานี แล้วก็วันนั้นเองเขาก็ได้เชิญตัวแทนเยาวชนไปร่วมให้ความเห็น ก็มีตัวแทนจากสมาคมฟ้าใส ตัวแทนจาก IPP Youth ตัวแทนจากกลุ่มลูกเหรียง แล้วก็ตัวแทนจากเยาวชนไทยพุทธ ก็ไปให้ความเห็น เราก็เตรียมข้อมูลไปให้ความเห็นตามสไตล์เรา เราก็พูดตามความเป็นจริงที่เรารู้สึกที่เราเจอ ที่เราได้ยินทั้งหมด เราเองก็มีเอกสารสำหรับยื่น แล้วก็บวกกับทางประธานกรรมาธิการ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง เขาสนใจที่จะให้เยาวชนมามีส่วนร่วม เพื่อให้มีเสียงของเยาวชน เพราะว่าตอนนั้นที่มาในกรรมาธิการก็มีแต่ผู้ใหญ่หมดเลย มี ส.ส. ตัวแทนพรรคการเมือง ภาคประชาสังคมต่าง ๆ ที่เข้ามา แล้วก็ท่านประธานก็บอกว่าจะตั้งผมเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการในตัวแทนของเยาวชน แล้วก็บวกกับพี่ ๆ ภาคประชาสังคมที่อยู่ในกรรมาธิการด้วยก็รู้จักกัน เค้าก็เลยช่วยผลักดัน ผ่านไปประมาณเดือน สองเดือน กว่าจะทําเอกสาร กว่าจะมีมติจากในกรรมาธิการเสร็จ ก็มีเอกสารออกมาว่า ได้ตั้งเราเป็นที่ปรึกษาครับ”
“แต่เสียดายคือ เราเข้าใจกลไกของสภาเนอะ ถ้ากรรมาธิการเขาก็จะมีค่าเดินทาง มีเบี้ยเลี้ยงให้ แต่เหมือนเราไปเราก็ยังเป็นนักศึกษา เราก็ไม่ได้มีค่าเดินทาง ไม่ได้มีเบี้ยเลี้ยง ไม่ได้มีอะไรเลย ก็ไปตามกำลังตามความสามารถที่เรามี แล้วก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใด ๆ ด้วย แต่ก็รู้สึกดีที่ว่า เราไปในนามของเสียงอิสระที่ไม่ได้อิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”
ความท้าทายของการเป็นตัวแทนเยาวชนในที่ประชุมกรรมาธิการฯ คืออะไร?
“พอประชุมครั้งแรก จําได้ว่าตอนนั้นไปคนเดียว แต่ก็ไปเจอกับพี่ ๆ ภาคประชาสังคมที่นู่น ตอนอยู่หน้าห้องประชุม ทุกคนคือ ส.ส. ทุกคนมีตำแหน่ง เราเป็นแค่ตัวเล็ก ๆ ใส่สูท ก็ตื่นเต้น ใจสั่น
เข้าไปครั้งแรกยังไม่ได้พูดอะไร เขาแค่แนะนำว่ามีตัวแทนจากเยาวชนมา แค่นั้น แล้วก็ครั้งต่อ ๆ ไป ทุก ๆ ครั้งที่ไปก็ได้มีโอกาสเข้าประชุมกับอนุการมีส่วนร่วม ก็คือเข้าประชุมวันเดียวกันแต่คนละช่วง เหมือนช่วงเช้าประชุมอนุการมีส่วนร่วม ช่วงบ่าย ประชุมกรรมาธิการใหญ่ ก็เลยได้มีโอกาสเข้าทั ้งสอง เลยตั้งโจทย์กับตัวเองว่าอย่างน้อย ๆ แล้ว เราต้องมีอะไรในการแสดงความคิดเห็นในทุก ๆ ครั้งที่เราไป เพราะว่าเราก็ไม่ได้ไปบ่อยขนาดนั้น ทั้งหมดที่กล่าวมา ความท้าทายก็คือ เราเป็นเสียงเยาวชนแค่หนึ่ง ต่อกรรมาธิการที่เป็นผู้ใหญ่อีก 30 กว่าคน แต่จะทํายังไงให้เสียงของเราดัง จะทํายังไงให้สิ่งที่เราพูดถูกบรรจุเข้าไปในรายงานของกรรมมาธิการ อันนี้ก็คือความท้าทายใหญ่สำหรับผมเลย”
รู้สึกอย่างไรที่เราเป็นตัวแทนเยาวชนที่ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการฯ?
“จริง ๆ ตอนแรกรู้สึกว่าตัวเองเป็นไม้ประดับ หน้าแก่ด้วยมั้ง บางทีมันก็ดูกลมกลืนไปกับผู้ใหญ่ไปเลย มันดูเหมือนไม่ใช่เยาวชน แล้วก็มีป้ายชื่อที่ปรึกษากรรมาธิการ แล้วก็ชื่อเรา แล้วก็เกิดคําถามว่า หรือเยาวชนเป็นแค่ไม้ประดับที่เขาสามารถเคลมได้ว่า กรรมาธิการของฉันมีเยาวชนนะ ฉันให้ความสําคัญกับเยาวชนนะ ในบางครั้งก็เกิดคําถาม แต่พอได้มีโอกาสเข้าไปแสดงความคิดเห็นบ่อย ๆ รู้สึกว่า เฮ้ย เสียงของเราก็สําคัญนะ เพราะว่ามีกรรมาธิการคนหนึ่งเขาบอกว่าเสนอไปเลย หมายความว่า เราคิดอะไรอยู่เสนอไปเลยเพราะว่าความคิดของเยาวชนนั้นมันไม่ได้อิงกับอํานาจของใคร มันไม่ได้อิงกับผลประโยชน์ของใคร และก็มันก็ไม่ได้เป็นผลเสียกับเยาวชน เหมือนเขาจะบอกว่าเยาวชนคือคนบริสุทธิ์นะ ก็เลยรู้สึกว่าเสียงเยาวชนสําคัญ แล้วทุกครั้งก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ”
ได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำงานในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการฯ?
“อย่างแรก ถ้าเรื่องของสิ่งที่ได้เร็วที่สุดก็คือการเข้าสังคมครับ เราได้รู้ว่าการวางตัวของเรากับผู้ใหญ่ที่เขามีบทบาทในระดับนโยบาย ในระดับนิติบัญญัติของประเทศ เราต้องวางตัวยังไง สองก็คือว่า ด้วยความที่เราเป็นกลาง เราไม่ได้เอนเอียงไปฝั่งไหน เราต้องใช้กระบวนการวิเคราะห์แยกแยะแบบเยอะมาก ๆ ว่าสิ่งที่คนนี้พูดมันเท็จจริงแค่ไหน เพราะว่าเขามาในนามของพรรคนี้ แล้วก็อีกอันนึงที่ได้ก็คือ การสื่อสารครับ เหมือนทุกครั้งที่ผมจะพูดหรือว่าผมนําเสนออะไรไป ผมก็จะจดไว้ก่อน แล้วผมก็มาเรียบเรียงลําดับ เพื่อให้ผู้ใหญ่เข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อสาร และเราต้องพูดเพื่อโน้มน้าวเขาด้วย ก็เลยเขียนออกมาแล้วก็อ่านดุอาร์ (หมายถึง สวด หรือ ขอพร) ยอมรับว่าบางทีมันก็ตื่นเต้น ก็ปรึกษากับพี่ ๆ ภาคประชาสังคมที่เป็นกรรมาธิการด้วยกันว่า จะนําเสนอประมาณนี้โอเคไหม พอถึงคิวเราก็ยกมือตามที่เราได้เตรียมมาครับ”
คิดว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับเสียงของเยาวชนหรือไม่?
“คิดว่าผู้ใหญ่ให้ความสําคัญกับเยาวชนนะ โดยเฉพาะประธานกรรมาธิการ เพราะว่าทุกครั้งที่นําเสนอเขาก็จะตั้งใจฟังแบบจดจ่อมองหน้าผมจนผมพูดเสร็จ บางครั้งเนี่ยเวลาจะพูดคือต้องยกมือ พี่ ๆ ในกรรมาธิการก็จะช่วยชี้มาว่าประธานครับ มีน้องเยาวชนจะมาเสนอความเห็นอะไรแบบเนี้ย เขาก็ช่วยดันให้เราได้พูด ก็คิดว่ามันอยู่ที่เราพูดอะไรออกไป มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเขาจะให้ความสําคั ญกับเรารึเปล่า จริง ๆ ผู้ใหญ่ให้ความสําคัญนั่นแหละ เพียงแค่ว่าเรานําเสนออะไรออกไปมากกว่า”
โครงการ SENANG มีบทบาทในการสนับสนุนเยาวชนอย่างไรบ้าง?
“ถ้าไม่มี SENANG ก็ไม่มีผม เพราะว่าเป็นที่ปรึกษาเขาไม่ได้ให้เงินหรือค่าเดินทางอะไร ก็มีโครงการ SENANG นี่แหละ อันแรกเลยได้ความรู้จากโครงการ SENANG เราก็ต้องมาทบทวน ต้องมาเรียนเกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพใหม่ ก็ทําให้เข้าใจมากขึ้น ก็เลยคิดว่าดีนะที่เข้า IPP Youth ก่อนที่จะไปเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ เพราะว่าถ้าเข้าไ ปเป็นที่ปรึกษาก่อน โดยที่ความรู้เรายังไม่เต็มร้อย ก็น่าจะเคว้งน่าดูเพราะว่าเราไม่รู้ต้องทํายังไง ก็เลยคิดว่าดีที่ได้เข้า SENANG ก่อน เข้า IPP Youth ก่อน แล้วก็มาเป็นที่ปรึกษา พอเป็นที่ปรึกษาอีกก็สนับสนุนค่าเดินทางให้เราประชุมอีก เวลาทุกครั้งที่ประชุมก็ต้องสรุปรายงานนะว่าประชุมได้อะไร เสนออะไรไปบ้าง กลับไปให้ทาง SENANG ด้วย”
“ถ้าสันติภาพยังไม่เกิด ผมคิดว่าผมทำไม่สำเร็จนะ อันนี้ภาพใหญ่นะครับ ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ เราก็ต้องดิ้นรนต่อไปเพื่อสุดท้ายแล้วความสำเร็จก็คือเกิดสันติภาพ เพราะว่าทุกคนต่างทําหน้าที่ของตัวเองเพื่อให้เกิดสันติภาพ”
อยากบอกอะไรกับ เซฟ เดอะ ชิลเดรน และโครงการที่สนับสนุนเยาวชน?
“ผมอยากบอกกับ เซฟ เดอะ ชิลเดรน ผมอยากบอกกับโครงการ SENANG และ เซฟ เดอะ ชิลเดรน ทั่วโลกว่าอย่าหยุดที่จะทําแบบนี้ เราเองก็เป็นผลผลิตจากคุณ แล้วเรารู้สึกว่ายังมีอีกหลายคนที่เขาเองก็อยากเป็นผลผลิตจากคุณเหมือนกัน เยาวชนบ้านเราไม่ได้งอมืองอเท้ารอนะ เราไม่ได้แบบอยู่ดี ๆ ก็อยากให้อะไรลอยมา เราก็ไม่ได้อยากเป็นอย่างงั้น ผมก็ได้รับโอกาสในการเพิ่มศักยภาพ ความรู้ ความสามารถ พอเราไปอยู่อีกหนึ่งตําแหน่ง เราก็ได้เงินสนับสนุนอีกเพราะเราไม่มีค่าเดินทาง ไม่มีค่าอะไรเลย เขาก็ดูแลเราอีก ก็เลยอยากจะบอกทาง เซฟ เดอะ ชิลเดรน ว่าอย่าหยุดที่จะสนับสนุนต่อไป”
อยากบอกกับเยาวชนคนอื่น ๆ ที่อยากมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพไหม?
“ทําในสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันมีส่วนในการช่วยให้สันติภาพเกิดขึ้นก็โอเคแล้ว เพราะว่าแต่ละคนก็มีความถนัด ความรู้ความสามารถที่ไม่เหมือนกัน คุณถนัดนั้น คุณถนัดนี้ แต่ว่าทุกคนก็มีส่วนช่วยในการเป็นจิ๊กซอว์ให้สันติภาพเกิดขึ้น”

รู้จักกับ ฟาอิก นักศึกษาชายแดนใต้ที่กำลังใช้เสียงของตัวเองผลักดันสันติภาพ
8 เมษายน 2568
STORY
รู้จักกับ ฟาอิก นักศึกษาชายแดนใต้ที่กำลังใช้เสียงของตัวเองผลักดันสันติภาพ