top of page
STC_Logo_Eng_Horiz_ColPos_RGB (1).png

แนวปะการังนับเป็นหนึ่งในระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความสำคัญมากที่สุดบนโลกของเรา แต่ปัจจุบัน แนวปะการังนี้กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และการกระทำของมนุษย์ ด้วยความตระหนักถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนของวิกฤตนี้ โครงการ Care for Coral ที่ริเริ่มขับเคลื่อนโดยเด็กและเยาวชน จึงได้มุ่งฟื้นฟูและปกป้องแนวปะการังในประเทศไทย ผ่านการให้ความรู้ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการลงมือฟื้นฟูสภาพแนวปะการังโดยตรง 

 

เนื่องในโอกาสที่โครงการ Care for Coral ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1ใน 5 โครงการที่เข้ารอบสุดท้ายของ Generation Hope Goals โดยจะมีการเตรียมนำเสนอผลงานในการประชุม Asia-Pacific Forum on Sustainable Development 2025 ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568ในบทสัมภาษณ์นี้ เราได้พูดคุยกับ พิณไพเราะ สนิทวงศ์ เครือโสภณ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Care for Coral ถึงเส้นทาง ความท้าทาย และแนวคิดในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่านโครงการที่น่าสนใจนี้ 

 


อะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เริ่มโครงการ Care for Coral? 

 

ตอนหนูอายุประมาณ 13 หรือ 14 ปี หนูกับพี่สาวเริ่มดำน้ำกันค่ะ โชคดีที่พ่อแม่พาหนูไปดำน้ำหลายที่ทั่วโลก ทั้งที่ฟลอริดา ที่ไทย และที่มัลดีฟส์ จริงๆ เมืองไทยมีแนวปะการังที่สวยงามและหลากหลายมาก เป็นจุดหมายของทั้งนักดำน้ำตื้นและนักดำน้ำลึก เราเคยไปทั้งเกาะพีพี ภูเก็ต และอีกหลายที่ มีอยู่ครั้งหนึ่ง หนูกับพี่สาวรู้สึกคิดถึงทะเลมาก เลยไปดำน้ำ พอขึ้นมาจากน้ำก็บังเอิญได้ยินนักดำน้ำสองคนคุยกัน เขาบอกว่าการดำน้ำครั้งนั้นเป็นหนึ่งในการดำน้ำที่ดีที่สุดที่เจอมาช่วงนี้เลย แต่หนูรู้สึกใจหายค่ะ  เพราะเมื่อเทียบกับที่เคยเห็นมาก่อนหน้านี้ สภาพมันก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ 

  

หนูเห็นเลยว่าในประเทศไทยเริ่มมีการเสื่อมโทรมของแนวปะการังชัดเจนขึ้น และด้วยประสบการณ์ที่พวกหนูเคยมี (และโชคดีที่เราได้เคยไปเห็นอะไรมากมาย) หนูเลยอยากช่วยให้แนวปะการังของไทยสามารถคงอยู่ต่อไปในอนาคต นี่เลยเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราก่อตั้ง Care for Coral ค่ะ 

 


ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของแนวปะการังในวันนี้คืออะไร และโครงการนี้เข้ามาช่วยอย่างไร? 

  

ปัจจัยที่ทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรมตอนนี้มีหลายอย่างมากค่ะ แต่หนูคิดว่าส่วนหลักๆ มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ เพราะแนวปะการังต้องการอุณหภูมิ ค่าพีเอช ความเค็ม และสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างเฉพาะเพื่อจะเติบโต แต่ตอนนี้ความเป็นกรด-ด่างของท้องทะเลก็เปลี่ยนไป รวมถึงมลพิษต่างๆ ที่ทำให้ระบบนิเวศเสียหายก็มีส่วนด้วยเหมือนกันค่ะ 

  

Care for Coral เริ่มต้นด้วยการรวมกลุ่มนักดำน้ำกัน  เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องแนวปะการัง จากนั้นก็ช่วยกันสร้างสถานเพาะพันธุ์ปะการังกับแนวปะการังเทียมบนบก ซึ่งต่อมาเราจะนำไปติดตั้งในบริเวณที่เสื่อมโทรม เช่น จุดที่เพิ่งประสบปัญหาปะการังฟอกขาวอย่างรุนแรง เพื่อสร้างแนวปะการังใหม่ขึ้นมาค่ะ 

  

หนูมองว่ามันมีสามแนวทางหลักๆ ในการช่วยแก้ปัญหาการเสื่อมโทรมของแนวปะการัง อย่างแรกคือเริ่มจาก สิ่งที่ทำได้ “ก่อน" ที่จะเกิดความเสียหาย สิ่งที่ทำได้ “ระหว่าง” เกิดปัญหา และสิ่งที่ทำได้ในภาย “หลัง” ซึ่งเป็นการฟื้นฟูค่ะ 

  

ของทีมหนู ในช่วงที่เราเริ่มต้นกันใหม่ๆ จะเน้นที่การฟื้นฟูหลังเกิดความเสียหายเป็นหลักค่ะ 

 


มีอะไรที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวปะการัง ที่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้บ้างไหม? 

 

หนูไม่แน่ใจว่าตอนนี้ทุกคนรู้อยู่แล้วหรือยัง แต่สมัยหนูเด็กๆ หนูเพิ่งรู้ว่า จริงๆแล้วปะการังไม่ใช่พืช แต่เป็นสัตว์ค่ะ 

 

แนวปะการังเป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน (symbiotic relationship) กับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ซูแซนเทลลี” (zooxanthellae) ซึ่งจะเกาะอยู่กับปะการังและทำให้ปะการังมีสีสัน สารสีเหล่านี้เป็นตัวที่ทำการสังเคราะห์แสง ไม่ใช่ปะการังเอง หนูว่าจุดนี้น่าสนใจมากเลยนะคะ 

 

 

คิดว่าแนวปะการังมีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไรบ้างคะ? 

 

แนวปะการังกับท้องทะเลนับเป็นพื้นที่ในการดูดซับคาร์บอน (carbon sink) ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกค่ะ แต่ปะการังครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า 0.1% ของพื้นทะเลทั้งหมด หลายคนเลยอาจไม่ค่อยนึกถึงแนวปะการัง หรือมองว่าเป็นเหมือน “สวนสวยใต้น้ำ” เฉยๆ เวลาไปดำน้ำก็เห็นแค่ส่วนเล็กๆ เท่านั้นเอง 

 

แต่ความจริงแล้ว แนวปะการังเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากเลยค่ะ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำจำนวนนับล้านตัว แล้วตัวปะการังมีสาหร่ายซูแซนเทลล์ที่ช่วยเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นออกซิเจนด้วย เรียกว่ามีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่ะ นอกจากนี้ในประเทศไทย เรามักเห็นการปลูกป่าชายเลนตามชุมชนริมฝั่งทะเลเพื่อช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งและช่วยกันคลื่นจากสึนามิหรือเหตุอื่นๆ ใช่ไหมคะ แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าแนวปะการังก็มีหน้าที่คล้าย ๆ กันในทะเลค่ะ 

 

ทุกวันนี้ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปยังทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้นทั่วโลกด้วยค่ะ อย่างที่เชียงใหม่เองก็เพิ่งเจอน้ำท่วมใหญ่ในรอบ 50 ปี หนูคิดว่าถ้าเราฟื้นฟูแนวปะการังต่อไปและเข้าใจความสำคัญของมัน เราน่าจะช่วยลดความรุนแรงของสภาพอากาศสุดขั้วที่ประเทศไทยและประเทศชายฝั่งอื่นๆ จะต้องเจอได้ เพราะแนวปะการังทำหน้าที่เหมือนกำแพงกันคลื่นได้ค่ะ 

 

 

คนอื่นๆจะช่วยปกป้องแนวปะการังได้อย่างไรบ้าง ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม 

 

อย่างที่หนูบอกไปแล้วว่ามีหลายอย่างที่เราทำได้ “ก่อน” จะเกิดปัญหาค่ะ หนูให้ความสำคัญกับการให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ เช่น ไปจัดกิจกรรมในโรงเรียนประถม หรือไปพูดในเวทีต่างๆ เพื่อให้คนเข้าใจว่าแนวปะการังสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อปลูกฝังให้เด็กๆ รู้ถึงความสำคัญนั้นตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะในอนาคตพวกเขาจะเป็นคนที่รับผิดชอบดูแลทะเลค่ะ 

 

ตอนที่หนูเสนอโครงการให้ Generation Hope Goals หนูคิดถึงปัญหาที่ Care for Coral เจอค่ะ อย่างหนึ่งเลยคือเรื่องทุนทรัพย์ อุปกรณ์ดำน้ำมีราคาแพง บางทีชุมชนท้องถิ่นหรือเด็กที่อยากเข้าร่วมก็ไม่มีทุนพอ ซึ่งแนวคิดของเราคือ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดต้องมีโอกาสและมีความรู้ที่จำเป็นในการปกป้องดูแลสภาพแวดล้อมของตัวเองให้ได้ค่ะ 

 

 

รู้สึกอย่างไรบ้างคะที่ได้เป็น 1 ใน 5 ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายของ Generation Hope Goals?

 

การได้รับทุนจะเป็นเรื่องที่ดีมากเลยค่ะ เพราะมันจะช่วยโครงการของเราได้เยอะมาก แต่หนูรู้สึกว่าการได้เจอคนอื่นๆ และได้รับฟังเกี่ยวกับโครงการของทุกคนก็น่าประทับใจมากเหมือนกัน ตอนเราพรีเซนต์ทางออนไลน์ หนูฟังโครงการของทีมอื่นๆ แล้วก็รู้สึกดีใจที่บนโลกยังมีคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวและอยากแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกันเยอะมาก จนคิดว่าใครจะได้ทุนไป หนูก็ยินดีทั้งนั้น อย่างน้อยเราต่างคนต่างก็กำลังช่วยกันทำเพื่อของสิ่งแวดล้อมค่ะ 

 

 

Generation Hope Goals เป็นความร่วมมือที่ขับเคลื่อนโดยหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น เซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ศูนย์ประสานงานระดับภูมิภาคของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC RCC Asia) เครือข่าย Youth Empowerment in Climate Action Platform มูลนิธิพุทธฉือจี้ (Buddhist Tzu Chi Foundation) และ ChildFund International โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาและสนับสนุนผู้นำรุ่นใหม่ที่สร้างทางออกอย่างยั่งยืนให้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต 

รู้จักกับ Care for Coral โครงการของเยาวชนไทยเข้ารอบสุดท้าย Generation Hope Goals

20 กุมภาพันธ์ 2568

Story

รู้จักกับ Care for Coral โครงการของเยาวชนไทยเข้ารอบสุดท้าย Generation Hope Goals

เพื่ออนาคตที่สดใสของเด็กทุกคน

bottom of page