top of page
STC_Logo_Eng_Horiz_ColPos_RGB (1).png

กรุงเทพฯ 22 มกราคม 2568 – กรุงเทพฯ ติด 1 ใน 10 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลก ในวันนี้ (22 ม.ค. 68) อากาศแย่จนทำให้บางโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอน เซฟ เดอะ ชิลเดรน กล่าว 

 

การตรวจวัดจาก IQAir ซึ่งเป็นองค์กรจากสวิตเซอร์แลนด์แบบเรียลไทม์พบว่า เมืองธากา (บังกลาเทศ) การาจี (ปากีสถาน) เดลี (อินเดีย) กาฐมาณฑุ (เนปาล) ฮานอย (เวียดนาม) กรุงเทพฯ และอีกสามเมืองในจีน ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลก 

 

กรุงเทพมหานครออกประกาศเมื่อเช้าวันนี้ (22 ม.ค. 68) เตือนให้ประชาชนใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และขอความร่วมมือไปยังบริษัทห้างร้านให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน และได้มีการประกาศปิดโรงเรียนในพื้นที่ที่มีมลพิษสูงต่อเนื่องเกินสามวัน กรุงเทพมหานครชี้แจงว่าแหล่งกำเนิดมลพิษส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ รถบัส และรถบรรทุก ซึ่งปล่อยควันพิษออกมา วันนี้ระดับฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ อยู่ที่ 107 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่ ระดับฝุ่น PM2.5 ที่ปลอดภัยตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในปี 2564 คือ ไม่ควรมีฝุ่น PM2.5 ในอากาศเกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรภายใน 24 ชั่วโมง เพราะเกินกว่านี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของคนทั่วไป

 

ในปี 2564 มลพิษทางอากาศทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตถึง 8.1 ล้านคน  โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวนมากถึง 700,000 คนที่เสียชีวิตมาจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รองจากภาวะทุพโภชนาการ (ภาวะที่มาจากการได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน)  มลพิษทางอากาศสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และบางครั้งอาจเป็นผลกระทบที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากเด็กหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่และรับอากาศเข้าสู่ร่างกายมากกว่าตามสัดส่วนของน้ำหนักตัว อีกทั้งมักหายใจผ่านปาก ซึ่งทำให้รับสารมลพิษมากขึ้น ดังนั้น มลพิษทางอากาศจึงเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพในระบบทางเดินหายใจของเด็ก เช่น หลอดลมอักเสบและโรคหอบหืด นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก เพราะเมื่อเด็กต้องขาดเรียนจากอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ ทำให้พัฒนาการในการเรียนรู้ของพวกเขาก็ลดลงตามไปด้วย 

 

เซฟ เดอะ ชิลเดรน เรียกร้้องให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาข้างต้นโดยการลดมลพิษทางอากาศผ่าน การลดดการใช้เชื้อเพลิงที่ปล่อยควัน เช่น น้ำมันและถ่านหิน พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เพื่อให้อากาศดีขึ้นสำหรับเด็กทุกคน 

 

นายกีโยม ราชู ผู้อำนวยการ เซฟ เดอะ ชิลเดรน กล่าวว่า "มลพิษทางอากาศทำร้ายสุขภาพของเด็ก ผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และการเล่นเพื่อพัฒนาการของเด็กๆ เพราะอากาศที่สะอาดเป็นสิทธิของทุกคน และรัฐบาลควรเร่งดำเนินการเพื่อลดการปล่อยมลพิษ ปรับปรุงคุณภาพอากาศ และปกป้องเด็กและชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5ให้เร็วที่สุด" 

เซฟ เดอะ ชิลเดรนห่วง กรุงเทพฯ อากาศแย่ติดอันดับโลก

22 มกราคม 2568

NEWS

เซฟ เดอะ ชิลเดรนห่วง กรุงเทพฯ อากาศแย่ติดอันดับโลก

เพื่ออนาคตที่สดใสของเด็กทุกคน

bottom of page