กรุงเทพฯ 28 เมษายน 2568
เซฟ เดอะ ชิลเดรน องค์กรเพื่อเด็กชั้นนำระดับโลกเปิดเผยข้อมูลล่าสุดที่น่าตกใจว่า เด็กที่เกิดในวันนี้จะต้องเผชิญคลื่นความร้อนรุนแรงกว่าเดิมถึง 7 เท่า โดยเฉพาะอากาศร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่เพียงแต่กระทบสุขภาพร่างกายของเด็ก แต่ยังรบกวนพัฒนาการ การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิตในระยะยาว งานวิจัยสากลและข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าเด็กทั่วโลก รวมถึงเด็กไทย กำลังเผชิญกับอันตรายจากอากาศร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี [1]
ในช่วงที่เด็กไทยจำนวนมากยังอยู่ใน “ปิดเทอมใหญ่” และใช้เวลาอยู่บ้านหรือในชุมชนเป็นหลัก เซฟ เดอะ ชิลเดรน เผยข้อมูลวิจัย [2] เมื่อปี 2567 พบว่าช่วงปี 2524–2562 ความถี่และระยะเวลาของคลื่นความร้อนในประเทศไทย โดยเฉพาะเขตเมืองและปริมณฑล เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขตกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ประสบคลื่นความร้อนยาวนานขึ้น แม้ในเวลากลางคืน ทำให้เด็กปรับตัวได้ยากขึ้นและเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำและโรคจากความร้อนมากกว่าเดิมนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นพบว่าเขตที่มีต้นไม้น้อยและสิ่งก่อสร้างหนาแน่น เด็กกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กข้ามชาติ เด็กไร้สัญชาติ และครอบครัวยากจนได้รับผลกระทบรุนแรงเป็นพิเศษ นอกจากนี้ กลุ่มเด็กในประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำ เช่น ประเทศไทย มีแนวโน้มเสี่ยงขาดน้ำ ภาวะช็อกจากความร้อน และโรคผิวหนังเพิ่มขึ้น รวมถึงผลกระทบระยะยาวต่อการเรียนรู้และพัฒนาการอีกด้วย [2, 3, 4]
เซฟ เดอะ ชิลเดรนขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการคุ้มครองเด็กจากอันตรายของคลื่นความร้อนโดยเฉพาะอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในสถานศึกษา ซึ่งควรมีแผนรับมือเหตุการณ์อากาศร้อนจัด เช่น การปรับเวลาเรียน หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง และจัดพื้นที่ร่มหรือติดตั้งจุดพักคลายร้อนพร้อมน้ำดื่มสะอาดอย่างเพียงพอภายในโรงเรียน นอกจากนี้ ครูและผู้ปกครองควรมีข้อมูลและเข้าฝึกอบรมทักษะการสังเกตอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความร้อนในเด็กได้อย่างทันท่วงที และควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางที่อยู่ในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กที่มีทรัพยากรจำกัด เช่น เด็กข้ามชาติหรือเด็ก ไร้สัญชาติ
ในระดับนโยบาย ควรส่งเสริมให้มีการวางแผนรับมือคลื่นความร้อนในสถานศึกษาอย่างเป็นระบบ เช่น การจัดให้โรงเรียนมีโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัยและทนทานต่อสภาพอากาศ การกำหนดแนวปฏิบัติเมื่อเกิดอากาศร้อนจัด และการส่งเสริมให้ครูและบุคลากรมีความพร้อมรับมือ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางโรงเรียนปลอดภัย (Safe Schools) ที่ประเทศไทยได้ร่วมขับเคลื่อน
ประเทศไทยได้ให้คำมั่นใน Nationally Determined Contributions (NDCs) ฉบับปรับปรุงปี 2565 ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 30% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับแนวโน้มปกติ (BAU) หรือคิดเป็นการล ดการปล่อยประมาณ 115 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และเพิ่มเป้าหมายเป็น 40% หรือประมาณ 153 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หากได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติในด้านการเงิน เทคโนโลยี และการเสริมสร้างศักยภาพ
เซฟ เดอะ ชิลเดรนขอย้ำว่า การดำเนินการตามเป้าหมายเหล่านี้ต้องไม่ล่าช้า และควรมีการเปิดเผยความก้าวหน้าอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างความโปร่งใสต่อสาธารณะ พร้อมกันนี้ เราขอเรียกร้องให้ภาครัฐบูรณาการประเด็นการคุ้มครองเด็กจากความเสี่ยงทางภูมิอากาศ เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม และมลพิษทางอากาศ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในด้านการลดการปล่อย (mitigation) และการปรับตัว (adaptation) เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนจะได้รับการปกป้องอย่างแท้จริงในอนาคตภายในแผนยุทธศาสตร์การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (NAP) ควรมีบทบัญญัติเฉพาะที่เน้นการปกป้องเด็กอย่างชัดเจน ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ รวมถึงส่งเสริมการสร้างระบบสังคมที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เด็กและเยาวชนของไทยมีโอกาสเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ยั่งยืน และเป็นธรรม
สำหรับระยะยาว เซฟ เดอะ ชิลเดรนเสนอให้รัฐบาลบูรณาการเรื่องการรับมือคลื่นความร้อนและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG mitigation) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนผังเมืองและนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศของประเทศ โดยเฉพาะในการกำหนดเป้าหมายในแผนการลดโลกร้อนของไทย (NDCs) เพื่อให้การปกป้องเด็กจากผลกระทบของวิกฤตภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ
ในส่วนของผู้ปกครอง เซฟ เดอะ ชิลเดรนขอเน้นย้ำให้ดูแลเด็กเป็นพิเศษในช่วงนี้ ด้วยการไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ในรถหรือห้องปิดทึบโดยไม่มีผู้ดูแล หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านช่วงอากาศร้อนจัด ให้เด็กดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ แม้ไม่ได้รู้สึกกระหาย แต่งกายเด็กด้วยเสื้อผ้าบาง สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น เหงื่อออกน้อย ซึม เบื่ออาหาร หรืออาเจียน หากพบให้พาเด็กไปพบแพทย์ทันที รวมถึงติดตามข่าวสารและประกาศเตือนภัยจากทางการอย่างใกล้ชิด พร้อมอธิบายเหตุผลและวิธีดูแลตนเองให้เด็กเข้าใจ
นายกีโยม ราชู ผู้อำนวยการบริหาร เซฟ เดอะ ชิลเดรน กล่าวว่า “คลื่นความร้อนที่รุนแรงในปีนี้ส่งผลกระทบต่อเด็กมากกว่าที่เคย เราขอเน้นย้ำให้ผู้ปกครองทุกท่านใส่ใจดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิด ให้เด็กดื่มน้ำบ่อย อยู่ในที่ร่ม แต่งกายเหมาะสม และสังเกตอาการผิดปกติอยู่เสมอ หาก พบอาการน่ากังวล ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว สำหรับภาครัฐ เราขอเรียกร้องให้เห็นความสำคัญและเร่งดำเนินมาตรการป้องกันคลื่นความร้อนในกลุ่มเด็ก เช่น การจัดหาแหล่งน้ำสะอาด พื้นที่คลายร้อนในโรงเรียนและชุมชน และเผยแพร่ข้อมูลที่เข้าใจง่ายถึงครอบครัวทุกกลุ่ม เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการปกป้องอย่างเท่าเทียม”
อ้างอิง
3. https://www.thelancet.com/pdfs/journals/lanwpc/PIIS2666-6065(24)00052-X.pdf
4. https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.1080/09603123.2024.2328741

เซฟ เดอะ ชิลเดรนเผย เด็กเจนใหม่เจออากาศร้อนเกิน 40 องศามากขึ้น 7 เท่า ชี้ทุกฝ่ายต้องเร่งดูแล
28 เมษายน 2568
NEWS
เซฟ เดอะ ชิลเดรนเผย เด็กเจนใหม่เจออากาศร้อนเกิน 40 องศามากขึ้น 7 เท่า ชี้ทุกฝ่ายต้องเร่งดูแล